ข่าวประชาสัมพันธ์ บมจ. กสท โทรคมนาคม

ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับกิจการสื่อสารโทรคมนาคม

CAT จับมือ 3 หน่วยงาน นำโครงข่ายไร้สาย LoRaWAN สนับสนุนโปรเจกต์ใหญ่ หวังสร้างนักประดิษฐ์สมองกลระดับประเทศ ครั้งที่ 12

      พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)  หรือ CAT ร่วมกับ ดร.สันติ นุราช กรรมการ TESA Top Gun Rally และภาควิชาวิศวกรรมระบบควบคุมเครื่องมือวัด มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี  ดร.วิชญา รุ่นสุวรรณ์ คณะเทคโนโลยีและการจัดการอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (วิทยาเขตปราจีนบุรี) และนายครรชิต ศรีนพวรรณ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ร่วมแถลงข่าวการจัดประชันทักษะทางด้านสมองกลฝังตัว ชิงแชมป์ประเทศไทยครั้งที่ 12  ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 3 อาคารศูนย์บริการลูกค้า CAT สำนักงานใหญ่ ถนนแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2560

 

 

            สำหรับโครงการ TESA Top Gun Rally ครั้งที่ 12 ที่กำลังจะเกิดขึ้นในระหว่างวันที่ 7-13 มกราคม 2561 ภายใต้การแข่งขันในหัวข้อ ระบบอัจฉริยะสำหรับอุทยานแห่งชาติ 4.0 (Smart National Park 4.0 : Universal National Park Box : UNPBox) เกิดขึ้นจากความร่วมมือจาก 4 หน่วยงานที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนาระบบสมองกลฝังตัวเพิ่มมากขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเพื่อขานตอบต่อนโยบายภาครัฐที่ต้องการขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่ Thailand 4.0 อย่างยั่งยืนในอนาคต

 

           พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ CAT เปิดเผยว่า  “CAT ได้ร่วมสนับสนุนโครงข่าย IoT บนเทคโนโลยี LoRaWAN (Long-Range Wide Area Network) เพื่อให้นักศึกษาที่เข้าร่วมการแข่งขันนำไปพัฒนาระบบสมองกลบนโครงข่าย LoRaWAN ได้เต็มศักยภาพตลอดระยะเวลาของการแข่งขัน ณ ค่ายเยาวชนสุรัสวดี อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ทั้งนี้ CAT ได้จัดให้มีการทดสอบการกระจายสัญญาณของโครงข่าย LoRaWAN เป็นระยะๆ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมด้านการกระจายสัญญาณ พร้อมกันนี้เตรียมที่จะนำรถถ่ายทอดสัญญาณเคลื่อนที่ ตลอดจนอุปกรณ์เชื่อมต่อต่างๆ ขึ้นไปทดสอบยังจุดที่ใช้ในการแข่งขันอีกครั้งในวันที่ 26 ธันวาคม 2560 เพื่อทำการทดสอบการทำงานของ sensor แต่ละตัวให้มีประสิทธิภาพ และพร้อมปล่อยสัญญาณอย่างมีเสถียรภาพ ครอบคลุมพื้นของการแข่งขันในรัศมี 5 กม.”

 

             โดยตลอดระยะเวลาของการจัดโครงการ จะจัดให้มีการอบรมในทุกหัวข้อก่อนการแข่งขัน อาทิ จัดอบรม Project Management, หลักการส่งค่าต่างๆ, Data Analytic, LoRa Server Setting เป็นต้น ทั้งนี้เพื่อเป็นการให้ความรู้และสร้างความเข้าใจแก่นักศึกษาที่เข้าแข่งขันก่อนการใช้งานจริง  ให้สามารถใช้งานอุปกรณ์ ตลอดจนได้ฝึกใช้เครื่องมือซอฟต์แวร์ในระดับมิดเดิลแวร์ เช่น ระบบปฏิบัติการทันเวลา โพรโทคอลสแตก การประมวลผลสัญญาณ ตลอดจนการทดสอบการทำงานของซอฟต์แวร์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ      ทั้งนี้มีนักศึกษาที่สมัครเข้าร่วมและผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 201 คน จำนวน 40 ทีม จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ทั่วประเทศ ร่วม 30 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าฯ ลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี,  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยบรูพา, มหาวิทยาลัยขอนแก่น, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์,มหาวิทยาลัยเชียงใหม่,  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์,  มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยนเรศวร, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยศิลปากร,  เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล,  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี, มหาวิทยาลัยมหาสารคราม, มหาวิทยาลัยพะเยา, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, สถาบันเทคโนโลยีไทย –ญี่ปุ่น,  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร, มหาวิทยาลัยศรีปทุม, มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์, มหาวิทยาลัยสยาม,  เครือข่ายมหาวิทยาราชภัฎ และสถาบันอาชีวะศึกษาและวิทยาลัยเทคนิค (นำร่อง) สำหรับทีมที่คว้าตำแหน่งชนะเลิศจะได้รับเงินสด 50,000 บาท รองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 30,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 20,000 บาท โดยทุกลำดับจะได้รับมอบทุนการศึกษาพร้อมโล่รางวัล

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

          

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา