ข่าวประชาสัมพันธ์ บมจ. กสท โทรคมนาคม

ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับกิจการสื่อสารโทรคมนาคม

CAT นำเทคโนโลยียกระดับคุณภาพชีวิตเกษตรกร สู่ความทันสมัยกับยุคไทยแลนด์ 4.0 

       ปัจจุบันการใช้เทคโนโลยีมีบทบาทสำคัญต่อทุกกลุ่มสาขาอาชีพ  โดยเฉพาะภาคการเกษตร ได้มีนโยบายรัฐให้การสนับสนุนรวมถึงหน่วยงานต่างๆ เข้ามาช่วยส่งเสริมให้กลุ่มเกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อการพัฒนาตั้งแต่ระดับรากหญ้า หนึ่งในนั้นคือ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT องค์กรรัฐวิสาหกิจผู้ให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคมและไอที


         พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่  บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวว่า แนวคิดการดำเนินงานด้านสังคมของ  CAT ได้ผนวกเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคมเข้ากับการดำเนินธุรกิจหลักทั้งในด้านเทคโนโลยีการสื่อสารที่ทันสมัย  วิทยากรผู้มีความรู้  รวมไปถึงอุปกรณ์ไอทีต่างๆ โดยมุ่งเน้นการสร้างองค์ความรู้ให้กับประชาชนเป็นหลักภายใต้ชื่อโครงการ CAT CSR DIGITAL COME TOGETHER เพื่อสนับสนุนเกษตรกรที่เป็นคนกลุ่มใหญ่ของประเทศที่มีมากถึง 70% 

         บทบาทของ CAT ในการเป็นผู้ส่งต่อเทคโนโลยีควบคู่กับองค์ความรู้ผ่านโครงการ “CAT CSR DIGITAL COME TOGETHER” ได้ให้ความสำคัญกับเทคโนโลยี IoT (Internet of Things) เพื่อที่จะสนับสนุนงานด้าน Smart Farmer ให้ขยายไปสู่กลุ่มเกษตรกรไทยมากขึ้น ให้ได้เรียนรู้ทำความเข้าใจและใช้งานจริง ใน 3 พื้นที่นำร่อง คือ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดนครนายก  และ พื้นที่แสมดำของกรุงเทพมหานคร 


          พันเอก สรรพชัย เล่าถึงการนำเทคโนโลยีด้าน IoT มาใช้ใน Smart Farmer  ได้เริ่มที่โครงการนำร่อง Smart Farmer ในพื้นที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาโครงการกสิกรรมไร้สารพิษอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา  ซึ่ง CAT ได้นำเอาอุปกรณ์ที่เป็น IoT ไปติดตั้ง ช่วยให้เกษตรกรสามารถควบคุมอุณหภูมิ      วัดระดับความชื้นของดินและสภาพอากาศ สามารถควบคุมการเปิด-ปิดน้ำได้ตามความต้องการ  ซึ่งเทคโนโลยี IoT เหล่านี้เข้ามาช่วยเกษตรกรในการลดต้นทุนและประหยัดเวลาได้


           “โครงการนำร่องนี้เป็นการพัฒนาเป็นศูนย์การเรียนรู้และถ่ายทอดความรู้การใช้เทคโนโลยีอย่างสร้างสรรค์ เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์เป็นศูนย์การเรียนรู้ต้นแบบให้กับเกษตรกรชุมชน และพัฒนาให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต โดยเป้าหมายของ CAT คือการสร้างให้เป็นโซลูชั่น Smart Farmer ที่จะแยกได้ว่าพืชพันธุ์  แต่ละชนิดแตกต่างกัน มีความต้องการแร่ธาตุไม่เท่ากัน  เราจะพยายามทำให้ถึงจุดนั้น ซึ่งเท่ากับได้ช่วยเกษตรกรเพิ่มผลผลิตไปในตัว” 

          ทั้งนี้ โครงการนำร่องในจังหวัดนครนายก  และพื้นที่แสมดำ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการในรูปแบบเช่นเดียวกันนี้  เนื่องจากเทคโนโลยีด้าน IoT เป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถยกระดับคุณภาพการเกษตร สามารถประยุกต์ใช้งานได้ไม่จำกัดในทุกกลุ่มเกษตรกร

       “ความคาดหวังของ CAT อยากเห็นพี่น้องเกษตรกรมีรายได้สูงขึ้นและประหยัดเวลา ชาวนาและเกษตรกรสามารถเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อที่จะได้ยกระดับการทำอาชีพด้านเกษตรกรรมให้ก้าวหน้าได้ผลผลิตที่ดีขึ้น และสามารถขยายผลไปสู่ทุกพื้นที่ของสังคมไทยในระยะยาว โดยหาก CAT สามารถยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องเกษตรกรไทยได้ จะเป็นสิ่งที่ดีมาก”

 

 

 

 

          พันเอก สรรพชัย กล่าวเพิ่มเติมว่าการโฟกัส Smart Farmer นับเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่เป็นนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์การดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมของ CAT ที่วางไว้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ยังมีการจัดกิจกรรม CAT Learning Center ร่วมกับชุมชนต่างๆ ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค

          หนึ่งในกิจกรรม CAT Learning Center  ได้นำเทคโนโลยีไอทีช่วยสนับสนุนการจัดทำกระบวนการเรียนรู้พึ่งพาตนเองอย่างยั่งยืนในท้องถิ่น  มุ่งเน้นกิจกรรมการเรียนรู้กระบวนการเกษตรอินทรีย์ที่ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาบริหารจัดการและควบคุม ซึ่งนักเรียน ครู ผู้ปกครอง และประชาชนในพื้นที่โรงเรียนเทศบาล 3 บ้านต่ำบุญศิริ อ.เมือง จ.นครนายก ที่เข้าร่วมเรียนรู้สามารถผลิตของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวันด้วยตนเองจากผลผลิตในพื้นที่และวัตถุดิบที่แลกเปลี่ยนภายในชุมชนด้วยกันเอง  อาทิ สเปรย์ตะไคร้ไล่ยุง สบู่ แชมพู น้ำมันนวด และได้ขยายผลนำไปจำหน่ายใช้เป็นต้นทุนต่อเนื่องในการดำเนินงานการเรียนรู้พึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง และที่น่ายินดีอย่างมากคือทางโรงเรียนฯ ได้รับมอบโล่เกียรติคุณในฐานะโรงเรียนพอเพียงท้องถิ่นนำร่อง หรือ Local Sufficiency School :LSS  จากกรมส่งเสริมการปกครองสู่ท้องถิ่น  

 

 

 

          นอกจากนี้ยังรวมถึงกิจกรรม “อบรม IT สำหรับคนวัยเก๋า”  เพื่อส่งเสริมให้ความรู้ ทักษะด้านไอที การใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีสื่อสารโทรคมนาคมให้เกิดประโยชน์และปลอดภัยสำหรับชุมชนผู้เกษียณอายุ

        พันเอก สรรพชัย กล่าวถึงการขับเคลื่อนกิจกรรม CSR ทั้งหมดของ CAT ที่ผ่านมา มีความหลากหลายในการส่งเสริมองค์ความรู้ ด้านต่างๆ ทั้งการศึกษา สิ่งแวดล้อม โดยมีแกนกลางด้าน “ไอที” เข้ามาเกี่ยวข้องทุกเรื่อง ทุกพื้นที่ 

      “นับจากนี้ต่อไป การวางแนวทางการดำเนินงานด้านสังคมของเรา จะยังคงเป็นไปภายใต้กรอบแนวคิด CAT CSR DIGITAL COME TOGETHER มุ่งพัฒนาองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของแต่ละท้องถิ่น หรือ ชุมชน ได้อย่างลงตัวเพื่อนำพาสังคมให้สามารถก้าวทันยุคไทยแลนด์ 4.0  โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา