CAT เตรียมระบบสื่อสารพร้อมรับมือพายุโซนร้อน “ปาบึก”

    CAT เตรียมพร้อมรับมือพายุโซนร้อนปาบึก จัดตั้ง War Room ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเฝ้าระวังระบบเครือข่ายขั้นสูงสุด ตลอด 24 ชั่วโมง สำรองระบบเคเบิลใยแก้วภาคพื้นดิน และระบบเคเบิลใยแก้วใต้น้ำสร้างความมั่นใจให้บริการต่อเนื่อง ในพื้นที่เสี่ยงภัยจากพายุโซนร้อนปาบึก ที่กำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่ประเทศไทย  

    นายพัฒนา ณ สงขลา รักษาการในตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานปฏิบัติการ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ในฐานะผู้นำการให้บริการด้านการสื่อสารโทรคมนาคม เปิดเผยถึงการดูแลระบบการสื่อสารโทรคมนาคมให้มีเสถียรภาพในทุกด้านเพื่อรองรับการให้บริการที่ต่อเนื่องในช่วงพายุโซนร้อนปาบึก โดยเตรียมความพร้อมโครงข่ายสื่อสารทั้งระบบเคเบิลใยแก้วใต้น้ำและระบบเคเบิลใยแก้วภาคพื้นดิน ซึ่งมีเส้นทางสำรองมากกว่าหนี่งเส้นทาง “กรณีที่โครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงภาคพื้นดินได้รับความเสียหายจากพายุ CAT ยังมีเคเบิลใต้น้ำอีกเส้นทางที่เชื่อมโยงระหว่างสงขลา เกาะสมุย ชุมพร เพชรบุรี ศรีราชา ซึ่งจะทำให้สามารถรักษาเสถียรภาพของเครือข่ายไว้ได้  ทราฟฟิกส่วนใหญ่ในเส้นทางนี้จะไม่ได้รับผลกระทบ โดยเรามีความพร้อมของระบบเครือข่าย ระบบไฟฟ้าสำรอง รถโมบาย และวิศวกรผู้ความเชี่ยวชาญเฝ้าระวังในพื้นที่ส่วนกลางและส่วนภูมิภาคอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถให้บริการลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องในพื้นที่ 16 จังหวัด พร้อมกับได้จัดตั้ง War Room ทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเฝ้าระวังระบบเครือข่ายตลอด 24 ชั่วโมง”  ทั้งนี้ สำนักงานบริการลูกค้า กสท เขตใต้ ได้ติดตามความเคลื่อนไหว และประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ในทุกจังหวัดตลอดเวลาอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมการรับมือป้องกันและแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับสภาพความเสี่ยงภัยในพื้นที่ เน้นความพร้อมของระบบไฟฟ้าสำรองให้สามารถทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพในการจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับระบบสื่อสารโทรคมนาคม ในกรณีที่ไฟดับจากเสาไฟฟ้าหักโค่น หรือเกิดอุทกภัยซึ่งจะส่งผลกระทบให้การจ่ายไฟฟ้าหยุดชะงัก รวมถึงการจัดทีมช่างและวิศวกรที่อยู่ในพื้นที่มีความเสี่ยงน้อยเพื่อมาช่วยพื้นที่อยู่ในพื้นที่ที่อยู่ในเส้นทางของพายุหรือพื้นที่มีโอกาสได้รับผลกระทบมาก  เพื่อรักษาเสถียรภาพของระบบการสื่อสารรองรับการใช้งานของในช่วงพายุโซนร้อนปาบึก   ประกอบด้วยเครือข่ายหลัก ได้แก่ เครือข่ายสื่อสารไร้สาย 850 MHz.เป็นหลักในการเชื่อมต่อการสื่อสารได้ทุกที่ทุกเวลาโดยครอบคลุมทุกพื้นที่ภาคใต้ทุกจังหวัดพร้อมระบบเส้นทางสำรอง เครือข่ายวิทยุสื่อสารไร้สายระบบทรังก์ (Trunked Mobile) ที่สถานีโครงข่ายของCATกระจายในทุกพื้นที่สำคัญทั่วภาคใต้สามารถใช้งานได้ในทุกสถานการณ์   รวมถึงระบบเครือข่ายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำทั้ง 3 สถานีของภาคใต้คือชุมพร สตูล และสงขลา ในการรองรับการสื่อสารทั้งภายในและระหว่างประเทศ    

    นอกเหนือจากการดูแลและสนับสนุนระบบสื่อสารโทรคมนาคมแล้ว CAT ยังได้พิจารณายกเว้นค่าบริการอินเทอร์เน็ตในช่วงที่ลูกค้าได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์พายุดังกล่าว   รวมถึงประสานงานกับหน่วยงานราชการระดับจังหวัด ในการให้ความร่วมมือช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน   โดยเปิดเป็นศูนย์พักพิงชั่วคราวให้กับประชาชนที่บ้านเรือนที่ได้รับผลกระทบอีกด้วย

 

 

 

 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา