ข่าวประชาสัมพันธ์ บมจ. กสท โทรคมนาคม

ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับกิจการสื่อสารโทรคมนาคม

CAT จับมือ 4 หน่วยงานภาครัฐ ร่วมทดสอบระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการภาครัฐ ตอบโจทย์รัฐบาลตามโครงการระบบ e-Payment ภาครัฐ

31.03.2016

 

          เมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2559 บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT จัดพิธีลงนามความร่วมมือกับ 4 หน่วยงานระดับชาติ เพื่อเข้าร่วมทดสอบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการภาครัฐ รองรับโครงการ e-Payment ภาครัฐ โดยมี นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ร่วมด้วย นายอำนวย ปรีมนวงค์ รองปลัดกระทรวงการคลัง พ.อ.ผศ.ดร.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) รักษาการในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ นายแพทย์อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน) และนางสาวอาริศรา ธรมธัช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจภาครัฐธนาคารกรุงไทย ณ ห้องประชุมชั้น 30 อาคาร CAT Tower

 

          โครงการทดสอบระบบสารสนเทศบริหารจัดการภาครัฐ (รองรับโครงการ e-Payment ภาครัฐ) จึงเป็นการพัฒนาระบบการชำระเงิน อีกหนึ่งบริการของประเทศที่จะรองรับระหว่างภาครัฐ กับภาคเอกชน (G2B) ผ่านบริการในระบบ IRIS Cloud ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ สังกัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยกระทรวงการคลังถือหุ้น 100% โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการจัดซื้อโดยรัฐกับธุรกิจเอกชน และการจัดการด้านภาษีของกรมสรรพากร เพื่อสนองนโยบายรัฐบาลในโครงการระบบ e-payment ภาครัฐ ประกอบด้วย

 

    1. การแจ้งความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงานรัฐ (e-Pre-Purchase Order) และการส่งใบเสนอราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Quotation) 
    2. การอนุมัติรายการเสนอราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e- Purchase Order)
    3. การส่งรายการเรียกชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Invoice) 
    4. การจัดการรายการภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) และใบรับอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Receive)
    5. การอนุมัติรายการจ่ายเงินในระบบ e-Payment ภาครัฐ 
    6. การบันทึกบัญชีและบันทึกรายการทะเบียนคุมทรัพย์สินแบบอัตโนมัติ

 

          ทั้งนี้ ยังเป็นการทำให้เกิดมาตรฐานในระบบงานของภาครัฐ และครอบคลุมการปฏิบัติงานของหน่วยงานภาครัฐในทุกประเภท โดยครั้งนี้จะเริ่มดำเนินการทดสอบในระบบการชำระเงินเป็นส่วนแรก เพื่อเป็นการพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์อย่างครบวงจร ซึ่งเป็นผลมาจากเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2558 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบในหลักการของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan) ซึ่งประกอบไปด้วยแผนงานหลัก 5 โครงการ ได้แก่ ระบบการชำระเงินแบบ Any ID การขยายการใช้บัตร ระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ โครงการ e-Payment ภาครัฐ และการให้ความรู้และส่งเสริมการใช้ธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

 

 

           นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่าแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ National e-Payment Master Plan เป็นหนึ่งในนโยบายเศรษฐกิจภาคการเงินที่กำหนดขึ้นสำหรับใช้เป็นมาตรการเชิงรุกในระยะยาวเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยเชิงโครงสร้างในระบบเศรษฐกิจด้านแรงงาน ทุน และเทคโนโลยี ที่เกิดขึ้นทั้งในระดับโลกและประเทศ (New Normal) และเป็นนโยบายหนึ่งที่เชื่อมโยงกับนโยบายอื่นๆ ในการขับเคลื่อนเพื่อการวางโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมระยาวของประเทศ

 

          มีจุดมุ่งหมายคือการพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) อย่างครบวงจร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน (Payment Infrastructure Development) นำไปสู่ประสิทธิภาพของระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax System) และยังสนับสนุนให้เกิดการลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย และสามารถบูรณาการข้อมูลสู่ระบบสวัสดิการสังคม (Social Welfare)

 

          นอกจากนี้ยังเป็นการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) และส่งเสริมให้เกิดรูปแบบ e-Payment ในทุกภาคส่วน (Cashless Society) ทำให้ธุรกรรมทางการเงินและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ดำเนินไปได้อย่างสะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น อันเป็นกลไกสำคัญเพื่อยกระดับศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจและของประเทศ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน

 

          โครงการทดสอบระบบสารสนเทศบริหารจัดการภาครัฐ จึงเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญที่จะเชื่อมโยงสู่ระบบ e-Payment ภาครัฐ และเป็นการพัฒนาระบบการชำระเงินอีกหนึ่งบริการของประเทศที่จะรองรับระหว่างภาครัฐ กับภาคเอกชน (G2B)

 

          นายอำนวย ปรีมนวงค์ รองปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวถึงโครงการทดสอบระบบสารสนเทศบริหารจัดการภาครัฐ ถือเป็นการพัฒนาส่วนโครงสร้างพื้นฐาน (Core Process) อันเป็นการเตรียมการเพื่อการเชื่อมโยงสู่ระบบ e-Payment ภาครัฐ เนื่องจากในส่วนองค์กรภาครัฐในส่วนมากยังขาดระบบพื้นฐานที่รองรับการปฏิบัติงานได้อย่างสมบูรณ์ หรือครบทุกขั้นตอน ซึ่งมีสาเหตุจากการพัฒนาระบบที่แยกดำเนินการเป็นเรื่องๆ ทำให้ในหนึ่งหน่วยงานมีหลาย Application และไม่สามารถเชื่อมต่อกันได้ จึงส่งผลต่อประสิทธิภาพของข้อมูลที่เกิดขึ้น ซึ่งเป็นที่มาของความด้อยประสิทธิภาพในการดำเนินงาน

 

          ที่สำคัญคือ ประสิทธิภาพของภาครัฐเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ เนื่องจากภาครัฐมีบทบาทหน้าที่หลักต่อการวางกรอบ กติกา หรือการรักษากฎหมาย ที่เป็นแรงจูงใจต่อภาคเอกชนในการดำเนินธุรกิจ ในการส่งเสริมโอกาสของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งใน สภาวการณ์ปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงผ่านบริบทเศรษฐกิจการเงินโลกและเศรษฐกิจไทย ได้เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน เป็นบริบทใหม่ หรือ บรรทัดฐานใหม่ (New Normal) คือสภาวะเศรษฐกิจรูปแบบ

 

          นายแพทย์อนุวัฒน์ ศุภชุติกุล ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์กรมหาชน) เปิดเผยว่า สรพ.จัดทำโครงการพัฒนาระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารทรัพยากรขององค์กร (G-ERP หรือ ระบบ PPB ในโครงการนี้) เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2555 ซึ่งได้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลดความซ้ำซ้อน เชื่อมโยงข้อมูลสำคัญเข้าด้วยกัน ผู้บริหารสามารถกำกับติดตามการดำเนินงานได้อย่างถูกต้องและรวดเร็ว


          การใช้ศักยภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศได้อย่างเต็มที่ ทำให้ลดภาระในเรื่องการประมวลผลข้อมูลในการติดตามกำกับโครงการต่างๆ ซึ่งพบว่าสามารถทำได้รวดเร็วขึ้น เช่นการประมวลผลเพื่อการปิดบัญชีและออกงบการเงินตามมาตรฐานของ สตง. สามารถดำเนินการได้ทันทีตามงวดบัญชี ซึ่งเดิมจะต้องใช้เวลาประมาณ 3-4 เดือนในการรวบรวมรายการต่างๆ และในช่วงการพัฒนาระบบยังทำให้สถาบันได้มีโอกาสทบทวนถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานต่างๆ และปรับปรุงมีความเหมาะสมกับการนำเทคโนโลยีมารองรับ

 

           ประกอบกับเป็นระบบที่ศึกษาและออกแบบมาเพื่อใช้กับหน่วยงานภาครัฐโดยเฉพาะ มีความยืดหยุ่นที่จะปรับให้เข้ากับความต้องการของสถาบัน และการเชื่อมต่อกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในอนาคต พร้อมกับมีทีมงานที่พร้อมให้การสนับสนุนการทำงานของสถาบันอย่างเต็มที่ และ ณ วันนี้ ทำให้สถาบันมีความพร้อมที่จะเข้าสู่การทดสอบเชื่อมต่อ กับหน่วยงานภายนอกได้ทันที ทั้งกับภาคเอกชนและเครือข่ายที่เป็นส่วน Supply Chain ของการดำเนินงาน เพื่อลด/กระชับขั้นตอนการเบิกจ่ายเงิน ซึ่งน่าจะเป็น Key Success ที่สามารถทำให้ลดภาระค่าใช้จ่ายที่เป็นต้นทุนของทุกฝ่ายได้ ตามความคาดหวังของนโยบายรัฐบาล

 

 

           พ.อ.ผศ.ดร.สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการตอบสนองต่อนโยบายของรัฐบาล CAT จึงได้จัดให้มีโครงการทดสอบระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหารจัดการภาครัฐในด้านของการชำระเงินขึ้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมไปสู่การพัฒนาระบบงานภาครัฐในทุกภาคส่วนให้สามารถบรรลุถึงผลสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม

 

          “ ในโครงการนี้ CAT ได้นำเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้ง มาใช้งาน โดยระบบคลาวด์นี้เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพสูง ด้วยระบบความปลอดภัยที่ได้รับมาตรฐานสากล ISO 27001 : 2005 ประกอบกับการที่ CAT มีโครงสร้างพื้นฐานที่มีศักยภาพ มีดาต้าเซ็นเตอร์ที่ได้มาตรฐาน รวมถึงมีโครงข่ายอินเทอร์เน็ตทั้งภายในประเทศ และระหว่างประเทศ ทำให้ผมเชื่อมั่นว่า จะช่วยรองรับความต้องการใช้งานของหน่วยงานภาครัฐ และเพิ่มความมั่นใจให้กับหน่วยงานภาครัฐที่สนใจจะมาใช้บริการในอนาคตได้เป็นอย่างดี”

 

          นางสาวอาริศรา ธรมธัช รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจภาครัฐ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment) เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนให้ภาคส่วนต่างๆ ก้าวสู่เศรษฐกิจ Digital และส่งเสริมให้บริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของภาครัฐ ก้าวเข้าสู่ Digital Government สนับสนุนให้ประชาชน และภาคธุรกิจสามารถใช้บริการของภาครัฐได้สะดวกรวดเร็ว เช่น ชำระเงินค่าธรรมเนียมต่างๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ช่วยให้กระบวนการทำงานของภาครัฐมีความคล่องตัว และตรวจสอบได้ง่าย อีกทั้งยังส่งเสริมและยกระดับศักยภาพของธุรกิจ ให้สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การซื้อขายสินค้า รวมถึงขั้นตอนการชำระเงิน

 

          ธนาคารกรุงไทยมีความพร้อมในการรองรับนโยบายระบบการชำระเงิน National e-Payment เพื่อให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศมีเสถียรภาพ ด้วย 3 โครงการ ได้แก่ โครงการระบบการโอนเงินและชำระเงินแบบ Any ID รองรับการขยายตัวผ่านช่องทางต่างๆ ของธนาคาร ทั้ง สาขา ATM และ KTB netbank โครงการขยายการใช้บัตรเดบิตในการชำระค่าสินค้า และบริการ และการวางเครื่อง EDC ให้กับหน่วยงานราชการ เพื่อรองรับนโยบาย Card Usage Expansion ของรัฐบาล โครงการชำระเงิน e-Commerce ส่งเสริมการทำธุรกรรมหรือธุรกิจผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยมีบริการชำระเงินสำหรับการขายสินค้า และผลิตภัณฑ์บน Internet ซึ่งธนาคารได้พัฒนาฟังก์ชั่นให้ประชาชนใช้งานได้สะดวก รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา

 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา