CAT ผนึกกำลังผู้ประกอบการโทรคมนาคม ร่วมพัฒนาเทคโนโลยีโทรคมนาคมขั้นสูง ตอบสนองเมกะโปรเจกต์ในยุคดิจิตอล

27.03.2016

          ในงานสัมมนา Carriers World Asia 2016 เมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ได้เปิดเผยถึงเมกะโปรเจกต์ของรัฐบาลในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ โดยมี CAT เป็น ผู้ให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐานของโครงการ นอกจากนี้ CAT ยังสร้างความมั่นใจให้กับผู้ร่วมลงทุนธุรกิจในอนาคตด้วยระบบและโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารที่พัฒนาอย่างต่อเนื่อง อาทิ ระบบสายเคเบิลใต้น้ำ Internet Gateway การสื่อสารผ่านดาวเทียม บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศคุณภาพสูง ศูนย์ข้อมูลและระบบ Cloud Computing รวมถึงระบบ 3G ที่ครอบคลุมพื้นที่มากที่สุด

 

 

           ดร. ดนันท์ สุภัทรพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการตลาดและการขาย ของ CAT เปิดเผยว่า “การใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของไทยในปี 2558 มีตัวเลขสูงถึงเกือบ 21,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเติบโตกว่าตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ GDP ถึง 3.8 เปอร์เซ็นต์และยังคิดเป็น 7 เปอร์เซ็นต์ ของ GDP ทั้งหมดของปี 2558 อีกด้วย โดยในปี 2559 ได้ประมาณการอัตราการเติบโตของ GDP ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นถึง 0.6 เปอร์เซ็นต์ จาก 2.9 เปอร์เซ็นต์ ในปีที่แล้ว ดังนั้นการใช้จ่ายเกี่ยวกับสินค้าและบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศน่าจะเติบโตขึ้นอีกพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของเทคโนโลยียุคดิจิตอล ไม่ว่าจะเป็นการประมวลผลแบบ Cloud Computing, Internet of Things หรือ Big data ซึ่งจะเป็นเทรนด์ที่จะมีบทบาทในการพัฒนาระบบไอทีสำหรับภาคธุรกิจในปีนี้ ”

 

      และเพื่อเป็นการตอบสนองแนวโน้มการบริโภคข้อมูลที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งเสริมสนับสนุนโครงสร้างเศรษฐกิจแบบดิจิตอลของประเทศ CAT จึงร่วมมือกับรัฐบาลในการดำเนินงานโครงการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยไฮไลท์ของโครงการมีดังนี้


       • การพัฒนาอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ความเร็วสูง (High-Speed Broadband Internet) สำหรับสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สายโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในพื้นที่สาธารณะ พื้นที่ห่างไกล สถานศึกษา รวมถึงเครือข่ายทางการศึกษา (NEdNet) และเครือข่ายข้อมูลของรัฐบาล (GIN) เพื่อให้บริการข้อมูลที่มีประโยชน์และจำเป็นทั่วประเทศ


      • ระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ (National Infrastructure) ด้วยมูลค่าเงินลงทุนประมาณ 20,000 ล้านบาทจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) โครงการนี้จะเติมเต็มช่องว่างระหว่างเมืองและชนบทด้วยโครงสร้างใยแก้วนำแสงที่จะครอบคลุมเกือบ 70,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 93 เปอร์เซ็นต์ของชุมชนหมู่บ้านในประเทศไทย


      • โครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่เตรียมผลักดันให้ภูเก็ตเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบเพื่อรองรับการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีดิจิตอลรวมถึงอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว โดยอาศัยเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐาน ศูนย์ข้อมูล และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี IoT


      • โครงการ Thailand One Map เพื่อรวบรวมและจัดการข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่จากหลายภาคส่วนเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกป่า หรือ ความขัดแย้งระหว่างพื้นที่

 

 

          งานสัมมนา Carriers World Asia 2016 ในปีนี้ จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 18 เพื่อเป็นเวทีนัดพบระหว่างผู้ประกอบการและผู้ให้บริการโทรคมนาคม และองค์กรวิสาหกิจ มาร่วมพูดคุยแบ่งปันแนวโน้มและทิศทางของธุรกิจ กรณีศึกษา รวมถึงการร่วมมือทางธุรกิจเพื่อผลประกอบการการค้าส่งที่ดีกว่าเดิม ซึ่งในช่วงปีที่ผ่านมามีความชัดเจนของการขยายตัวในอุตสาหกรรมผู้ประกอบการสื่อสารโทรคมนาคมอย่างมาก โดย CAT หนึ่งในผู้นำตลาดสื่อสารโทรคมนาคมไทยมีรายได้เติบโตในธุรกิจขายส่ง (Wholesale) เพิ่มขึ้นถึง 20% ซึ่งเป็นส่วนของการเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการระหว่างประเทศ สำหรับการใช้งานทั้งภาคธุรกิจและประชาชน

 

          โดยในปีนี้ CAT เป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนงาน ที่ได้ช่วยวางทิศทางของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมด้วยการบริการทางธุรกิจและการดูแลลูกค้าแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจในยุคดิจิตอล

 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา