CAT datacom News & promotion

ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับ CAT datacom

SD-WAN ระบบที่ช่วยแก้ปัญหาการเชื่อมต่อของบริษัทที่มีหลายสาขา

25.07.2019

สำหรับผู้ใช้ตามบ้านอาจจะตื่นเต้นกับคำว่า 5G รวมไปถึงเน็ตบ้านความเร็ว 1Gbps แต่ในมุมของหน่วยงานและองค์กรที่มีหลายสาขามีสิ่งที่น่าสนใจที่ชื่อว่า SD-WAN ที่จะช่วยให้การบริหารจัดการเป็นเรื่องง่ายกว่าเดิม และมีประสิทธิภาพดียิ่งขึ้นอีกด้วย

 

แม้ว่า SD-WAN จะเป็นเรื่องที่น่าสนใจแต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะหาข้อมูลที่เข้าใจได้ง่าย เนื่องจากไม่ใช่ระบบที่ออกแบบมาเพื่อคนทั่วไป ดังนั้นเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจนยิ่งขึ้น ผมจึงได้ติดต่อขอสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญจาก CAT Telecom เพื่อให้คำตอบของเรื่องนี้

 

ประวัติความเป็นมาของ SD-WAN

 

เรื่องราวความเป็นมาของ SD-WAN และคุณสมบัติของมัน หากเล่าในเชิงเทคนิค คิดว่าหลายคนน่าจะงง ดังนั้นผมจะขอถ่ายทอดเรื่องราวด้วยภาษาง่ายๆ ว่ามันคืออะไรและมันดียังไง และใช้ศัพท์เทคนิคให้น้อยที่สุด

 

ในช่วงราวปี 1990 เราใช้วิธีการสื่อสารและส่งข้อมูลผ่าน Leased Line & Frame Relay จะเชื่อมต่อกันก็ลากสายทองแดงไปเสียบกันดื้อๆ นี่ล่ะ ต่อมาในช่วงปี 2000 ก็มีการพัฒนารูปแบบออกมาเป็น Internet Protocol (IP) / Multiprotocol Label Switching (MPLS) ที่มีความสามารถมากขึ้น มีการระบุปลายทางว่าข้อมูลแต่ละชุดจะถูกจัดส่งไปที่ไหน 

 

ถ้าให้เทียบก็คล้ายกับการส่งไปรษณีย์ ที่เราต้องจัดการแพ็คของแล้วแปะชื่อที่อยู่ผู้รับ จากนั้นพนักงานก็จะนำส่งไปยังปลายทาง เมื่อผู้รับได้ของก็แกะดูภายใน ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีเฉพาะผู้ส่งกับผู้รับที่รู้ว่ามีอะไรอยู่ภายในกล่อง เราจึงเรียกกระบวนการในลักษณะนี้ว่า Private Network

 

ในช่วงปี 2000 นี่เองที่ผู้คนเริ่มใช้อินเตอร์เน็ตมากขึ้น ข้อมูลต่างๆ ถูกเข้าถึงได้อย่างอิสระจากทั่วโลก หรือพูดง่ายๆ ก็คือการเข้าเว็บนั่นล่ะ พวกนี้จัดอยู่ในกลุ่มของ Public Network ที่ใครจะเปิดดูก็ได้ แต่การมาของ Public Network ก็ไม่ได้ทำให้ Private Network หายไป เพราะงานบางประเภทยังต้องการความเป็นส่วนตัวอยู่ โดยเฉพาะหน่วยงานและบริษัทที่มีข้อมูลความลับภายในและไม่ต้องการเปิดเผยให้คนนอกเข้าถึงได้ มันก็เลยเกิดความซับซ้อนในการใช้งานจริงมากขึ้น

 

ตัวอย่างเช่น  การจะเข้าถึงข้อมูลบางอย่างของบริษัท จำเป็นต้องเข้าไปใช้คอมพิวเตอร์ในออฟฟิศเท่านั้น เพราะว่าเป็น Private Network ซึ่งมีความปลอดภัยในแง่ของการป้องกันข้อมูลรั่วไหล แต่ก็ไม่สะดวกในการเดินทาง ก็เลยมีการใช้ Virtual Private Network (VPN) ที่นั่งทำงานอยู่บ้านนี่แหละ แต่จำลองตัวเองเหมือนว่านั่งอยู่ในออฟฟิศ เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลภายในบริษัทได้ 

 

ความต้องการเชื่อมต่อเข้ากับ Private Network เพื่อให้เข้าถึงข้อมูลภายในของบริษัท พร้อมกับเชื่อมต่อโลกภายนอกแบบ Public Network ในเวลาเดียวกัน เลยเกิดการแก้ปัญหาด้วยวิธีต่างๆ เช่น

 

  • มีคอมพิวเตอร์แยกกันระหว่างเครื่องที่ใช้ภายในบริษัท กับเครื่องที่ต่อเน็ตสู่โลกภายนอก
  • ใช้เครื่องเดียวกันแต่วางระบบให้เชื่อมต่อได้ทั้งข้อมูลภายในและออกสู่โลกกว้าง

 

ถ้าเป็นกรณีแรกก็ดูไม่ซับซ้อนอะไร แต่ในความเป็นจริงแล้วเพื่อความเป็นระบบและง่ายต่อการดูแลรักษา บริษัทใหญ่ๆ จึงนิยมเลือกใช้แบบหลัง ที่โยนภาระให้ระบบเป็นตัวจัดการ ซึ่งรูปแบบมักจะเป็นการที่ข้อมูลทุกอย่างจะต้องวิ่งผ่านสำนักงานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการเข้าถึงข้อมูลภายในบริษัทหรือการเชื่อมต่อโลกภายนอก

 

แม้จะฟังดูง่ายแต่ในทางปฏิบัติแล้วต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการวางระบบ ทั้งในแง่ของ Hardware และการตั้งค่า Software เพื่อให้เชื่อมต่อข้อมูลได้อย่างถูกต้อง และมีความปลอดภัยรักษาความลับได้ และรูปแบบนี้ยังเป็นการเพิ่มภาระให้กับตัวระบบที่ติดตั้ง ณ สำนักงานใหญ่ด้วย เพราะทุกการกระทำต้องผ่านสำนักงานใหญ่

 

และแนวโน้มเทรนด์ต่างๆ เริ่มหันมาใช้งานผ่าน Web Based และ Cloud มากขึ้น เช่น การประชุม VDO Conference ผ่านเน็ต หรือการใช้งาน Microsoft Office 365 ส่งผลให้การรับส่งข้อมูลระหว่างสาขาและสำนักงานใหญ่มีมากเกินไป หรือที่เรียกว่า Bandwidth ไม่เพียงพอ เป็นเหตุให้ต้องเดินระบบขยายท่อให้ส่งข้อมูลได้มากขึ้น กระทบไปถึงการปรับแต่งระบบและค่าใช้จ่าย จึงเกิดแนวคิดแบบ SD-WAN ที่ช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้

 

 

SD-WAN พระเอกของเรื่อง

 

SD-WAN ไม่ใช่ของใหม่แกะกล่อง แต่เริ่มเป็นที่น่าสนใจในช่วงปี 2019 เพราะปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เริ่มเอื้ออำนวย ทั้งเรื่องของความต้องการในการใช้ Private Network และ Public Network ในเวลาเดียวกัน เพราะการมาของ Cloud รวมถึงการขยาย Bandwidth และการ Maintenance ดูแลรักษาระบบเริ่มมีค่าใช้จ่ายสูงไม่ต่างกับการติดตั้ง SD-WAN นั่นจึงทำให้ SD-WAN เริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้น

 

SD-WAN ย่อมาจาก software-defined wide area network ที่แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ Hardware ที่เป็น SD-WAN Box หรืออธิบายง่ายๆ ว่ามันก็เหมือน Router ที่ใช้ติดเน็ตตามบ้านนั่นล่ะ อีกส่วนก็จะเป็น Software ที่อยู่บน Cloud ซึ่งเป็นตัวควบคุมระบบทั้งหมด

 

การที่มีตัวควบคุมระบบอยู่บน Cloud ทำให้ควบคุมจากส่วนกลางได้ง่าย แต่ละสาขาทำอะไรก็ยังสามารถตรวจสอบได้ ดูแลรักษาง่าย และยังช่วยลดภาระของสำนักงานใหญ่ได้ด้วย เพราะการต่อเน็ตออกสู่โลกภายนอกไม่จำเป็นต้องวิ่งผ่านสำนักงานใหญ่อีกต่อไป โดย SD-WAN ที่ติดตั้งในแต่ละสาขาจะทำหน้าที่บริหารจัดการ ว่าข้อมูลชุดไหนควรส่งไปยังสำนักงานใหญ่ หรือข้อมูลชุดไหนควรต่อออกเน็ตโดยตรง

 

SD-WAN ยังมีความยืนหยุ่นและลดค่าใช้จ่ายได้อีก เพราะเราสามารถเลือกความเหมาะสมของผู้ให้บริการและแพ็กเกจอินเตอร์เน็ตของแต่ละสาขาได้อย่างอิสระ ไม่จำเป็นว่าต้องเหมือนกันทุกสาขา แบบที่ขาหนึ่งวิ่งไปหาสำนักงานใหญ่ ส่วนอีกขาที่ต่อออกสู่โลกภายนอกจะใช้เน็ตแบบไหนก็ได้ โดยที่สำนักงานใหญ่ยังสามารถควบคุมและตรวจสอบได้เช่นเดิม

 

ด้วยความยืดหยุ่นนี้ทำให้สามารถปรับแต่งได้หลายแบบตามความต้องการ เช่น การตั้งค่าให้เชื่อมต่อหลาย WAN โดยแต่ละ WAN จะทำงานพร้อมกันแบบ Active/Active และสามารถทำเป็น Backup เพื่อเป็นช่องทางสำรองในการเชื่อมต่อในกรณีที่ช่องทางหลักมีปัญหาก็ได้เช่นกัน

 

ซึ่งตรงนี้ก็นับว่าเป็นอีกจุดเด่นของ CAT Telecom เพราะมีโครงข่ายเป็นของตัวเองทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้สามารถให้บริการได้ครบวงจร และมีหลากหลายรูปแบบให้ลูกค้าสามารถเลือกใช้งานได้ครอบคลุม ไม่ว่าจะเป็น MPLS, Internet และ My 4G/LTE

ภาพรวมของการติดตั้งระบบก็ถือว่าทำได้ง่าย เพราะเป็นการตั้งค่าเพียงครั้งเดียวและนำค่า Config ไปใช้กับสาขาต่างๆ ได้พร้อมกัน

 

บทสรุปของ SD-WAN

 

เอาง่ายๆ ว่า SD-WAN จะช่วยลดความยุ่งยากของการวางระบบ เอื้อต่อการขยายสาขา ควบคุมและสังเกตการณ์จากส่วนกลางได้ง่าย ลดค่าใช้จ่ายของแต่ละสาขา มีความปลอดภัยของข้อมูล เรียกได้ว่าเหมาะกับทุกบริษัทหรือหน่วยงานที่มีหลายสาขา และเชื่อกันว่า SD-WAN จะมาแทนที่ระบบในปัจจุบัน เพราะมันดีกว่าของเดิมแทบทุกอย่างเลย อาจเรียกได้ว่า SD-WAN คืออนาคตของบริษัทที่มีหลายสาขาก็ได้

 

 

    โดย BACIDEA บล็อกเกอร์ผู้มากประสบการณ์ด้านไอที มีผลงานกับรายการไอทีชื่อดังอย่างแบไต๋, ล้ำหน้าโชว์ และเป็นผู้ก่อตั้ง Xiaomi Fansite ในประเทศไทย

 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา