บทความ IT SECURITY

3 หนังแนว Cyber Security ในอดีตที่คนไอทีไม่ควรพลาด

12.02.2016

จากอดีตที่ผ่านมามี หนังแนว Cyber Security อยู่หลายต่อหลายเรื่องที่อยู่ในความทรงจำของคอหนังหลายๆ ท่าน แต่วันนี้ทาง CAT cyfence ในฐานะผู้ให้บริการรักษาความปลอดภัยระบบไอที (IT Security) ขอแนะนำหนัง 3 เรื่องที่คนไอทีต้องหาแผ่น DVD มาดู หากลองพิจารณาเนื้อหาทั้ง 3 เรื่องแล้วจะบอกเลยได้ว่าความปลอดภัยของระบบไอทีในยุคนี้มีความสำคัญต่อตัวเราเอง และธุรกิจมากยิ่งขึ้น เริ่มด้วย

 

The NET (อินเทอร์เน็ตนรก) IMDB : 5.8/10

หากย้อนกลับไปปี 2538 หนังแนว Cyber Security แบบแฮกระบบอินเทอร์เน็ตที่ยังจำได้แม่นดูแล้วอิน ก็คงเป็นหนังเรื่อง “The Net” เพราะอาจจะมีดารานำอย่าง Sandra Bullock มาเป็นตัวแสดงนำด้วย บวกกับเนื้อหาที่ใหม่มากในสมัยนั้น ในยุคที่อินเทอร์เน็ตยังแพร่หลายในวงจำกัดอยู่ทั้งพื้นที่และความเร็ว

ซึ่งเรื่องย่อคร่าวๆจากที่ Angela Bennett (รับบทโดย Sandra Bullock) โปรแกรมเมอร์อิสระทำงานอยู่ที่บ้านเพียงอย่างเดียว สื่อสารกับเพื่อนผ่านโปรแกรมแชตเป็นหลัก จนคนบ้านใกล้เคียงแทบไม่รู้จักเธอ หลังจากที่ได้เปิดโปรแกรมบางอย่างจากแผ่นดิสท์เหตุการณ์ร้ายเริ่มค่อยๆ เกิดขึ้น เริ่มจากอุบัติเหตุเครื่องบินของเพื่อนที่เดินทางมาหาเธอ ถูกตามไล่ล่าจากหนุ่มหล่อที่รู้จัก ที่สำคัญเธอโดนเปลี่ยนข้อมูลประวัติทั้งหมดเป็นอาชญากรที่มีคดีมากมาย ทำให้เธอค่อยๆ สืบ เพื่อทำให้ข้อมูลประวัติกลับมาเป็นเหมือนเดิม

หนังเรื่องนี้ถือเป็นแนวไอทีที่มีความตื่นเต้นทำให้ใครหลายคนยังคงนึกถึงอยู่ และอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับผู้ที่สนใจด้านความปลอดภัยของระบบไอที ซึ่งปัจจุบันเรื่องความปลอดภัยของระบบไอทีกลายเป็นสิ่งจำเป็นไปแล้วในทุกวันนี้ หากใครยังไม่เคยรับชมลองค้นหาดูได้ทางอินเทอร์เน็ต เหมือนย้อนเวลากลับไปดูเทคโนโลยีเมื่อ 20 ปีที่แล้ว

 

 

Enemy of the State (แผนล่าทรชนข้ามโลก) IMDB : 7.3/10

หนังออกฉายครั้งแรกในอเมริกา พฤศจิกายน 2541 ซึ่งเป็นปีแรกที่ Google เริ่มก่อตั้งขึ้นพอดี จากวันนั้นถึงวันนี้ Google แทบจะกลายเป็นคำทับศัพท์ของ Search Engine ไปแล้ว เกือบ 20 ปี เทคโนโลยีอาจจะดูธรรมดาไปบ้าง

หนังเรื่องนี้ได้ดาราที่มีคุ้นหน้าคุ้นตามากมายในปัจจุบัน นำแสดงโดย พ่อหนุ่ม Men in Black Will Smith รับบทเป็น ดีน ทนายความด้านกฏหมายแรงงาน ในสำนักงานกฏหมายแห่งหนึ่งในกรุง วอชิงตัน ดี.ซี. ที่โดนตามล่าจาก NSA เพราะได้เทปลับมีฉากฆาตกรรมที่บงการโดย รองผู้อำนวยการ NSA นั่นเอง

แม้ตัวหนังค่อนข้างเก่า เทคโนโลยีที่มีในหนังดูธรรมดาไปแล้วสำหรับปี 2016 ที่กำลังจะมีอินเทอร์เน็ตอยู่ในทุกสรรพสิ่งที่เราใช้งาน แต่หนังก็สะท้อนความจริงข้อหนึ่งที่ว่าเราไม่อาจไว้ใจคนที่เฝ้าดูเพื่อตรวจสอบเราได้  แต่รัฐก็ยังคงพยายามจะเฝ้าดูเราอยู่ดี ดังวลีหนึ่งในหนังที่กล่าวโดย คาร์ล่า ภรรยาของดีน “Well, who’s gonna monitor the monitors of the monitors?” แล้วใครล่ะ จะเป็นคนตรวจสอบคนที่เฝ้าดูเราอีกที

หนังดำเนินเนื้อเรื่องได้สนุกชวนติดตาม มีติดตลกเล็กน้อย แม้อาจจะไม่หวือหวาเหมือนหนังยุคใหม่ แต่ก็ให้สติกับผู้ดูได้เป็นอย่างดี อยากให้ลองหาดูกันครับ

 

Citizenfour (แฉกระฉ่อนโลก) IMDB : 8.1/10

Edward Snowden (เอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน)  อดีตลูกจ้างระดับสูงของรัฐบาลในหน่วยงาน Intelligence Community (I.C. ฝ่ายเทคนิควิเคราะห์ข่าวกรอง – หน่วยงานนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1950 ช่วงสงครามเย็น) สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NSA) และกลายมาเป็นบุคคลผู้สร้างประเด็นสำคัญที่สุดของโลกในรอบปี ด้วยการเปิดโปงโครงการการสอดส่องดูแลมวลชนลับสุดยอดของรัฐบาลสหรัฐฯ และอังกฤษ ในสารคดีดำเนินเรื่องหลังจาก Edward หนีออกประเทศไปยังฮ่องกง และส่งอีเมลด้วยนามแฝง ‘citizen four’ ติดต่อบุคคลสองคนให้เดินทางไปบันทึกและถ่ายทำการเปิดเผยข้อมูล ที่ทำให้ทั่วโลกให้ความสนใจ ด้วยการซักถามของนักข่าวสองคน คือ เกล็นน์ กรีนวาล์ด และอีเวน แม็คแอสคิล (ทั้งคู่เป็นนักข่าวจากเว็บไซต์กับหนังสือพิมพ์ The Guardian) โดยสารคดีนั้นความน่าสนใจไม่ได้อยู่ที่ข้อมูลที่ Edward นำมาเปิดเผยเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสีสันด้วยความหวาดระแวง ความขี้อายของ Edward มาเพื่อกระตุกอารมณ์ตื่นเต้นให้กับผู้ชมอีกด้วย แต่ถึงอย่างไรก็ยังไม่ลืมประเด็นสำคัญที่สารคดีพยายามจะพูดถึงการถูกตรวจสอบโดยรัฐ ด้วยการดักข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตและทางโทรศัพท์ ซึ่งเป็นประเด็นเปิดโปงที่ Edward แฉให้โลกรู้ และเขาต้องแปรสถานะกลายเป็นกบฏไปในทันที ซึ่งหากมองในอีกมุมหนึ่งเขากลายเป็นผู้ถูกรัฐทำร้าย โดยไม่มีสิทธิ์จะต่อสู้กับรัฐซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จ และพร้อมจะลงโทษเขา ทั้งๆที่ เขามิได้บิดเบือนความจริงใดๆเลย

 

และหากคุณได้ดูสารคดี Citizenfour คุณจะพบและตระหนักว่าข้อมูลส่วนตัวของคุณ มันมีความสำคัญมากขนาดไหน ไม่ว่าจะเป็นบัตรเครดิต, โทรศัพท์มือถือสมาร์ทโฟนที่เป็นที่นิยมอย่างแพร่หลาย  หากมีใครสักคนเช่น Edward สามารถเข้าถึงและเชื่อมโยงต่างๆด้วยกันได้ นั่นหมายความว่าสามารถระบุตัวตนคน ๆ หนึ่ง และพฤติกรรมของเขาได้เลยทีเดียว รวมไปถึงการใช้งาน อินเทอร์เน็ตที่เก็บรวบรวมข้อมูลไว้ที่ server กลางหน่วยงานความมั่นคงก็สามารถเรียกดูข้อมูลได้เช่นกัน ด้วยเหตุผลความมั่นคงของประเทศ นั่นหมายความว่า พื้นที่ส่วนตัว ความเป็นส่วนตัวของประชาชน ไม่มีเหลืออยู่เลยบนโลกออนไลน์

 

“ขอบคุณเอ็ดเวิร์ด สโนว์เดน สำหรับความกล้าหาญของเขา”  ลอรากล่าวขณะขึ้นรับรางวัลออสการ์

 

หนัง 3 เรื่องที่ CAT cyfence เลือกมาให้พิจารณา ก็เพื่ออยากให้ทุกท่านระมัดระวังการใช้งานอินเทอร์เน็ตกันมากขึ้น เพราะในปัจจุบันภัยคุกคามเองมีหลากหลายรูปแบบและซับซ้อนมากขึ้น พร้อมสร้างความเสียหายต่อผู้ใช้งานและองค์กรในทุกๆ เวลา ดังนั้นการศึกษาการใช้งาน หรืออ่านเงื่อนไขก่อนคลิก ดาวน์โหลดโปรแกรมต่างๆ หรือทำธุรกรรมออนไลน์ เป็นวิธีเบื้องต้นในการหลีกเลี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อให้กับผู้ไม่หวังดีได้เช่นกัน “เพราะความปลอดภัยสามารถเริ่มได้ที่ตัวเราเอง”

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา