ข่าวประชาสัมพันธ์ บมจ. กสท โทรคมนาคม

ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับกิจการสื่อสารโทรคมนาคม

CAT ผนึก TOT และดีแทค ประกาศความพร้อม ร่วมทดสอบ Use case พัฒนาสู่ 5G อย่างยั่งยืน

     วันนี้ (1 เมษายน 2562) นายกิตติพงษ์ เมฆวิจิตรแสง  รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานเทคโนโลยีสารสนเทศ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT พร้อมด้วย นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม , ดร.มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที (จำกัด) มหาชน และ นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ร่วมแถลงข่าว “เส้นทางสู่ 5G ไทยอย่างยั่งยืน” เพื่อร่วมกันผนึกทรัพยากร ความรู้ และประสบการณ์ ภายหลังจากเปิดสนามทดสอบ 5G ทั้งพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและพื้นที่ EEC ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา เพื่อทดสอบการใช้งานจริง (Use case) หวังขับเคลื่อนการพัฒนาเทคโนโลยี 5G ในประเทศไทย โดย ดร.ณัฏฐวิทย์ สุฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ (กลุ่มขายและผลิตภัณฑ์สื่อสารไร้สาย) CAT ยังได้ร่วมเสวนา “ความร่วมมือการทดสอบ 5G เพื่อประเทศไทย” ณ ห้อง Library ชั้น 32 ดีแทคเฮาส์ จามจุรีสแควร์  

 

 

      กระทรวงดีอี แต่งตั้งคณะทำงานดูแลความร่วมมือการทดสอบ 5G ร่วมกัน

      นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า “รัฐบาลโดยกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการเปลี่ยนแปลงสู่เทคโนโลยี 5G ซึ่งจะต้องขับเคลื่อนด้วยความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง โดยภาครัฐมีหน้าที่กระตุ้นและส่งเสริมให้อุตสาหกรรมต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมทดสอบทดลอง โดยการประยุกต์เทคโนโลยีต่างๆ ที่มีในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง IoT (Internet of Things), ปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือ AI) หุ่นยนต์ (Robotic) ระบบคลาวน์ (Cloud Computing) ผสานกับ 5G ให้เหมาะสมกับบริบทและสภาพแวดล้อมของไทย เพื่อนำไปสู่การสร้างการใช้งานจริง (Use case) ในอนาคต ทางกระทรวงฯ ยังได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดูแลความร่วมมือระหว่างอุตสาหกรรมในการทดสอบ 5G ร่วมกัน และจัดทำแผนสู่ 5G (5G Road map) พร้อมทั้งประสานความร่วมมือกับ กสทช. เพื่อกำหนดอนาคต 5G และแผนการทดสอบร่วมกัน”

 

 

 

        CAT โชว์ Smart Solution ต่อยอดพัฒนาสู่ 5G ในอนาคต

       สำหรับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT นั้น ได้เร่งพัฒนาโซลูชัน IoT อย่างต่อเนื่องบนโครงข่าย LoRaWAN พร้อมทดสอบบริการจริง (Use case) เพื่อเตรียมความพร้อมด้านบริการ IoT และ Smart Soution สำหรับการต่อยอดพัฒนาสู่ 5G ในอนาคต โดยได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ นำโซลูชั่นเซ็นเซอร์ IoT วัดค่าคุณภาพอากาศแบบเจาะจงพื้นที่ สร้างต้นแบบงานวิจัยฝุ่นละอองในพื้นที่รอบจุฬาฯ ภายใต้โครงการ “PM2.5 Sensor for All” เพื่อเป็นข้อมูลเชิงลึกในจัดการปัญหาฝุ่นละอองในระยะยาว  โดยปัจจุบันมลพิษทางอากาศเป็นปัญญาใหญ่โดยเฉพาะเมืองใหญ่ต่างๆ เช่น รายงานดัชนีคุณภาพอากาศโลก (World Air Quality Index) พบว่าค่าฝุ่นละออง PM2.5 ในกรุงเทพมหานครและเชียงใหม่เกินระดับมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง จนติดอันดับหนึ่งในสิบเมืองค่าฝุ่นละอองเกินมาตรฐานของโลก

 

 

       โดย พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT กล่าวว่า “ข้อมูลดัชนีคุณภาพอากาศจากการทดสอบ โครงการ “PM2.5 Sensor for All” ซึ่งจะจัดเก็บไว้แบบเรียลไทม์ด้วยระบบคลาวด์ ผ่านเซ็นเซอร์ในพื้นที่แต่ละแห่งนั้น เมื่อใช้งานโครงข่าย 5G จะสามารถยกระดับจาก IoT สู่ massive IoT ด้วยการติดตั้งเซ็นเซอร์จำนวนมากได้เพิ่มขึ้นและแม่นยำยิ่งขึ้น  และด้วยการเก็บรวบรวมค่าดัชนีคุณภาพอากาศจากทุกพื้นที่นำมาประมวลผลร่วมกัน ยังสามารถนำมาออกแบบ Big Data บน CLOUD ให้เป็นแหล่งข้อมูลกลางที่สามารถแสดงค่าดัชนีคุณภาพอากาศของไทยด้วยรูปแบบที่เป็นมาตรฐานกว่าที่เคยมีรายงานมาก่อน”

     การให้บริการ 5G ในประเทศไทยนั้น เป็นการขับเคลื่อนจากภาคอุตสาหกรรม ซึ่งต้องเกิดจากความร่วมมือทั้งในอุตสาหกรรมเดียวกัน และความร่วมมือระหว่างภาคอุตสาหกรรม ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง CAT , TOT และ ดีแทค ต่างนำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายในอุตสาหกรรมเดียวกันมาร่วมกัน จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี ทั้งในส่วนของ 

1.การใช้ทรัพยากรร่วมกัน (Resource sharing) ทั้งในส่วนของอุปกรณ์ โครงข่าย และคลื่นความถี่ต่างๆ

2.การนำความรู้มาร่วมกัน (Knowledge sharing) โดยการนำความรู้ความเชี่ยวชาญโทรคมนาคมของแต่ละฝ่ายมาแบ่งปันและต่อยอดการทดสอบร่วมกัน

3.การแบ่งปันประสบการณ์ร่วมกัน (Experience sharing) ทำให้แต่ละฝ่ายไม่ต้องเริ่มต้นใหม่ แต่สามารถนำประสบการณ์ที่ได้มารวมกันเพื่อพัฒนาไปข้างหน้า รวมถึงศึกษาถึงข้อจำกัดและอุปสรรคทั้งในด้านเทคโนโลยีและระเบียบข้อกฎหมายต่างๆ

    TOT นำเสาอัจฉริยะ (Smart pole) เชื่อมต่อ 5G และอุปกรณ์สื่อสารทุกรูปแบบ

     ทางด้าน ดร.มนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอที (จำกัด) มหาชน กล่าวว่า” ปัจจัยที่สำคัญคือการมีหน่วยงานกลางที่ดูแลเสาอัจฉริยะ (Smart pole) ซึ่งจะทำให้การขยายสัญญาณ 5G และโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลของประเทศไทยเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เปิดโอกาสส่งเสริมผู้ให้บริการรายใหม่ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่สามารถเข้าสู่ตลาดได้อย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมได้มากขึ้น เป็นประโยชน์ในภาพรวมของประเทศในการเข้าสู่ 5G รวมถึงเป็นการลดต้นทุนของประเทศในการติดตั้งซ้ำซ้อน ลดระยะเวลาในการติดตั้งโครงข่าย ทำให้สามารถขยายได้ครอบคลุมเร็วยิ่งขึ้น ที่สำคัญสามารถทำให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลและเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานได้ทั่วถึงมากยิ่งขึ้น”

     ดีแทค ร่วมขับเคลื่อน 5G ทั้งระบบนิเวศน์

     นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ปัจจัยแห่งความสำเร็จของการนำ 5G มาใช้ปฏิวัติอุตสาหกรรมในประเทศไทยต้องเริ่มต้นที่การสร้างความร่วมมือที่เข้มแข็งระหว่างภาครัฐบาล กลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มผู้ใช้งาน และการทดสอบโครงการธุรกิจตามการใช้งานจริง (Use case) ร่วมกัน เพื่อนำสู่การวิเคราะห์ภาพรวมทั้งเทคโนโลยี และข้อกฏหมายสู่บริการเพื่อผู้ใช้งาน และหาจุดสมดุลย์ของความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ เพื่อขับเคลื่อน 5G ทั้งระบบนิเวศน์ จึงร่วมกับ CAT และทีโอที เป็นพันธมิตรในการทดสอบ 5G ร่วมกัน”

 

 

    สำหรับดีแทคได้ทำการทดสอบ 5G โดยได้ดำเนินการขอนุญาต กสทช เป็นที่เรียบร้อย ทั้งข้อเสนอในการใช้คลื่นความถี่ และการทดสอบทั้งแบบ Standalone (SA) ซึ่งเป็นการใช้เฉพาะคลื่น 5G และ Non-Standalone (NSA) หรือการทดสอบการทำงานของเทคโนโลยี 5G ร่วมกับ 4G โดยดีแทคแบ่งการทดสอบออกเป็น 3 ขั้นตอนในสถาพแวดล้อม (5G Environment) ดังนี้

    1. การทดสอบในห้องปฎิบัติการ (Lab Testing) เป็นการทดสอบความสามารถต่างๆของเทคโนโลยี 5G ในห้องปฎิบัติการก่อนนำสู่การทดสอบในสภาพแวดล้อมจริง

    2. การทดสอบในสภาพแวดล้อมจริง (Live Environment Testing) เป็นการทดสอบความสามารถต่างๆของเทคโนโลยี 5G ในสภาพแวดล้อมการใช้งานจริง เช่น พื้นที่บริเวณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย สยามสแควร์ เป็นต้น

    3. การทดสอบทางไกล (Remote Testing) เป็นการทดสอบความสามารถต่างๆของเทคโนโลยี 5G แบบทางไกล โดยเชื่อมต่อสถานีฐาน 5G จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไปยังโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่หลัก (Core Network) ที่โครงการทดสอบ 5G EEC ที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา เพื่อใช้ทดสอบสำหรับบริการที่ต้องใช้คลื่น 5G เชื่อมโยงถึงกันแม้จะใช้งานอยู่คนละพื้นที่ ตัวอย่างเช่นการรักษาผ่านทางไกล หรือสมาร์ทเฮลธ์แคร์(Smart Healthcare) เป็นต้น

    

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา