ข่าวประชาสัมพันธ์ บมจ. กสท โทรคมนาคม

ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับกิจการสื่อสารโทรคมนาคม

CAT ส่งมอบ ‘CAT Digital Farm’ ยกระดับเกษตรดิจิทัล 4.0 จาก CSR สู่ CSV สร้างคุณค่าร่วมเพื่อชุมชน-สังคมยั่งยืน 

จาก CSR สู่ CSV สร้างคุณค่าร่วม องค์กร-ชุมชน-สังคม ยั่งยืน

     ณ วันนี้การดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับความรับผิดชอบต่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) นับว่ายังไม่เพียงพอต่อการร่วมสร้างชุมชนและสังคมให้เข้มแข็งได้อย่างยั่งยืน ในปี 2562 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2563 นี้ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT จึงมีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการดำเนินโครงการเพื่อสังคม หรือ CSR (Corporate Social Responsibility) ไปสู่ ‘การสร้างคุณค่าร่วมให้กับสังคม’ หรือ CSV (Creating Shared Value) ที่มีเป้าหมายเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้คนในชุมชนและสังคมได้อย่างยั่งยืน 

     ด้วยการนำจุดแข็งในฐานะผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อสารโทรคมนาคมครบวงจร เข้าขับเคลื่อนสนับสนุนการพัฒนาบริการดิจิทัลไปสู่ภาคการเกษตร ภายใต้การดำเนินโครงการ ‘CAT เพาะพันธุ์ดี’ ด้วยการพัฒนา Digital Farm นำประโยชน์ของ IoT ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอันทันสมัย มาใช้พัฒนาเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการบริหารจัดการของฟาร์มเกษตรอัจฉริยะให้เข้าถึงชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ พร้อมทั้งขยายสังคมเกษตรดิจิทัล 4.0 ให้เพิ่มขึ้นทั่วทุกพื้นที่ในประเทศ ด้วยความเชื่อมั่นว่าจะสามารถช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้

 

 

 

 นำ IoT ยกระดับประสิทธิภาพการบริหารจัดการฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ  ‘CAT Digital Farm’

 

 

 

 

      โครงการ ‘CAT เพาะพันธุ์ดี’ เป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาโครงการความรับผิดชอบต่อสังคมของ CAT มีเป้าหมายหลักคือการนำประโยชน์ของไอโอที (IoT : Internet of Things) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอันทันสมัย มาใช้พัฒนายกระดับประสิทธิภาพการบริหารจัดการของฟาร์มเกษตรต่างๆ ในรูปแบบของ Digital Farm การส่งมอบ CAT Digital Farm ภายใต้โครงการ “CAT เพาะพันธุ์ดี” ให้กับโรงเรียนต่าง ๆ ตามเป้าหมายของโครงการ  เพื่อส่งเสริมเยาวชนระดับนักเรียนให้ได้เข้าถึงเทคโนโลยี IoT เพื่อการเกษตรด้วย ‘แปลงเกษตรอัจฉริยะ’ CAT Digital Farm ที่ประยุกต์องค์ความรู้ทางเกษตรร่วมกับเทคโนโลยี ประกอบด้วยระบบโซลาเซลล์เพื่อการผลิตกระแสไฟฟ้า การติดตั้งระบบ  ไอโอทีเพื่อควบคุมอุปกรณ์ต่างๆสำหรับดูแลแปลงเกษตร อาทิ ระบบควบคุมการเปิด-ปิดน้ำ ระบบเซ็นเซอร์วัดอุณหภูมิความชื้นในดินและอากาศ ตลอดจนกล้องวงจรปิด ซึ่งช่วยให้การควบคุมคุณภาพของผลผลิตได้มาตรฐานยิ่งขึ้น 

 

 

 

     นอกจากนี้ CAT ยังจัดอบรมให้แก่บุคลากรครู นักเรียน ผู้ปกครองและชุมชน เรียนรู้การใช้งานเทคโนโลยีสมาร์ตฟาร์มจากแปลงเกษตรสาธิต ซึ่งสามารถต่อยอดเป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรสมัยใหม่ เพื่อขยายองค์ความรู้ไปสู่ชุมชนอื่นๆ ในการร่วมกันก้าวสู่เกษตรยุคดิจิทัล

     พ.อ. สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ CAT กล่าวว่า “CAT ได้พัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลในรูปแบบ Digital Farm สนับสนุนเกษตรกรรมซึ่งเป็นอาชีพหลักของประชากรไทย ให้สามารถพัฒนาก้าวหน้า และแข่งขันได้ในโลกยุคใหม่ โดยเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำเกษตรกรรม ลดต้นทุนการผลิต ลดแรงงานและระยะเวลาในการดูแล และสร้างผลผลิตที่มีคุณภาพได้มากยิ่งขึ้น รวมถึงเกษตรกรยังมีการผสานเทคโนโลยีเหล่านี้ในชีวิตประจำวันได้อย่างดี มุ่งสู่เป้าหมายโครงการ ‘CAT เพาะพันธุ์ดี’ ในการพัฒนาเกษตรกรรุ่นใหม่และกลุ่มเยาวชนให้เติบโตเป็นคนพันธุ์ดีในยุค 4.0 ที่ไม่เพียงความหมายตรงตัว แต่ยังสื่อถึงพันธุ์ D ในความหมายของดิจิทัล (Digital) ที่เป็นหัวใจของโครงการนี้ด้วย”
 


 

  ส่งมอบ CAT Digital Farm ‘ฟาร์มเกษตรอัจฉริยะ’ แล้ว 7 โรงเรียน

     ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา CAT CSV (Creating Shared Value) ภายใต้โครงการ “CAT เพาะพันธุ์ดี” ได้ส่งมอบพื้นที่เกษตรอัจฉริยะ “CAT Digital Farm” ให้กับโรงเรียนต่าง ๆ แล้ว จำนวน 7 แห่ง ได้แก่

1.โรงเรียนสระบุรีวิทยาคม จ.สระบุรี 

 

 


2.โรงเรียนบ้านปรือวายใหญ่ จ.ปราจีนบุรี 

 

 


3.โรงเรียนวัดหุบรัก (ไพรประชาอุปถัมภ์) จ.นครปฐม 

 

 


4.โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม จ.เชียงใหม่ 

 

 


5.โรงเรียนบ้านกำแพงเพชร จ.สงขลา 

 

 


6.โรงเรียนมัธยมหลวงพ่อคูณปริสุทฺโธ จ.นครราชสีมา

 

 


7.โรงเรียนสระพังวิทยาคม จังหวัดชัยภูมิ 

 

 

   โดยในปีนี้ 2563 นี้ CAT ยังคงเดินหน้าร่วมกันสร้างสังคมดี ๆ ด้วยเทคโนโลยี IoT อย่างต่อเนื่อง

 

 ต่อยอดความสำเร็จโครงการ ‘CAT เพาะพันธุ์ดี’ เตรียมขยายผลสนับสนุนวิสาหกิจชุมชน ขับเคลื่อนเกษตรดิจิทัล 4.0

 

 

         พ.อ.สรรพชัย กล่าวว่า “CAT อยู่ระหว่างต่อยอดความสำเร็จโครงการ ‘CAT เพาะพันธุ์ดี’ โดยตั้งเป้าขยายผลจากระดับเกษตรกร และเยาวชน ครอบคลุมกลุ่มไปถึงระดับวิสาหกิจชุมชน มุ่งหวังให้เชื่อมโยงและครอบคลุมอีโคซิสเต็มของการเกษตรดิจิทัล 4.0 มากยิ่งขึ้น เพื่อสนับสนุนภาคการเกษตรของไทยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในโลกยุคใหม่ โดยที่ผ่านมานอกจากพัฒนาดิจิทัลฟาร์มให้กับธุรกิจฟาร์มเกษตรกรแล้ว โครงการ “CAT เพาะพันธุ์ดี”   ได้ส่งมอบพื้นที่เกษตรอัจฉริยะ ให้กับโรงเรียนสระบุรีวิทยาคม จังหวัดสระบุรี โรงเรียนบ้านปรือวายใหญ่ จังหวัดปราจีนบุรี โรงเรียนวัดหุบรัก (ไพรประชาอุปถัมภ์) จังหวัดนครปฐม โรงเรียนสันป่าตองวิทยาคม จังหวัดเชียงใหม่ และ โรงเรียนบ้านกำแพงเพชร จังหวัดสงขลา ล่าสุด ยังได้ส่งเสริมให้พนักงาน CAT ได้มีส่วนร่วมอย่างยั่งยืนในการพัฒนาต้นแบบ “CAT Digital Farm” เป็นศูนย์การเรียนรู้เกษตรไอโอที เพื่อให้คำแนะนำการใช้เทคโนโลยีไอโอที แก่ภาคการเกษตรและบุคคลทั่วไปที่สนใจ ณ อาคาร CAT สำนักงานใหญ่ ถนนแจ้งวัฒนะ ซึ่งอนาคตจะจัดทำศูนย์เรียนรู้ฯ ในรูปแบบดังกล่าวร่วมกับสำนักงาน CAT ส่วนภูมิภาคให้ครบทั้ง 6 เขตทั่วประเทศ
 
     “นับเป็นความภูมิใจที่ CAT ได้นำจุดแข็งของหน่วยงานในฐานะผู้ให้บริการเทคโนโลยีดิจิทัลและสื่อสารโทรคมนาคมครบวงจรเข้าขับเคลื่อนสนับสนุนการพัฒนาบริการดิจิทัลไปสู่ภาคการเกษตร โดยแผนในปี 2563 โครงการ “CAT เพาะพันธุ์ดี” จะเพิ่มการพัฒนา Digital Farm เข้าถึงชุมชนในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อขยายสังคมเกษตรดิจิทัล 4.0 เพิ่มขึ้นไปทั่วทุกพื้นที่ในประเทศ ซึ่งเชื่อมั่นว่าจะสามารถช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้”

 

 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา