ข่าวประชาสัมพันธ์ บมจ. กสท โทรคมนาคม

ศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารและกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับกิจการสื่อสารโทรคมนาคม

CAT สนับสนุนกระทรวงไอซีที จัดตั้งเครือข่ายศูนย์บ่มเพาะดิจิทัลสตาร์ทอัพ

31.05.2016

    เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2559  ดร.สุรพันธ์ เมฆนาวิน กรรมการบริษัท รักษาการในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เข้าร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เครือข่ายศูนย์บ่มเพาะดิจิทัลสตาร์อัพ (Digital Startup Incubation Network) ร่วมกับ ดร.อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) และหน่วยงานจากภาครัฐและเอกชนรวม 20 แห่ง ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ภายใต้งาน Digital Thailand 2016 โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธาน


     ความร่วมมือดังกล่าวนี้ เกิดขึ้นจากการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล ตามนโยบายของรัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา โดยกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวงไอซีที) ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินงานสานพลังประชารัฐ และต้องการร่วมผลักดันให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกภาคส่วนในสังคม ให้ได้รวมพลังกันขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจของประเทศ และพัฒนาสังคมโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นกลไกสำคัญในการเชื่อมโยงคนทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย เข้าด้วยกัน

 

       โดยในครั้งนี้มีหน่วยงานจากทางภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมโครงการรวม 20 หน่วยงาน ได้แก่ SME Bank, บมจ. ธนาคารกรุงไทย, บมจ.ไทยพาณิชย์, บมจ.ธนาคารกรุงเทพ, บมจ.ธนาคารกสิกรไทย บมจ.เมืองไทยประกันชีวิต, บมจ. กสท โทรคมนาคม, บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส, บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น, บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น, บริษัท หัวเว่ยเทคโนโลยี่, บมจ. พร็อพเพอร์นี้ เพอร์เฟค, ศูนย์ซีอาเซียน, สมาคมผู้ประกอบการเทคโนโลยีรายใหม่, สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยศรีปทุม และมหาวิทยาลัยกรุงเทพ


      ทั้งนี้กระทรวงไอซีที ได้มอบหมายให้ สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ ซิป้า และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT เป็นเจ้าภาพ ซึ่งจะใช้อาคาร CAT Tower บางรัก ของ CAT เป็นศูนย์ของโครงการนี้ คาดว่าจะสามารถเปิดรับสตาร์ทอัพที่สนใจได้ภายในสิ้นปี 59 โดยกำหนดขั้นตอนการดำเนินงานไว้ดังนี้


ระยะที่ 1 นโยบายการส่งเสริมและสนับสนุนศักยภาพกลุ่มธุรกิจ Digital Startup (Conception) เริ่มจากการตั้งคณะทำงานโดยมีตัวแทนจากทุกภาคส่วนเพื่อขับเคลื่อนนโยบาย การติดตามความคืบหน้าและระดมความร่วมมือจากเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง การสนับสนุนภาคการศึกษาผ่านทางมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาที่เกี่ยวข้อง


ระยะที่ 2 การส่งเสริมแนวความคิด (Ideation) โดยภาคการศึกษาจะจัดฝึกอบรม 2 หลักสูตร แบ่งเป็น หลักสูตรการฝึกอบรมระดับพื้นฐาน (Fundamental Training Course) และหลักสูตรระดับกลาง (Intermediate Training Course) ภาคอุตสาหกรรมจะให้การสนับสนุนในการจัดอบรมสัมมนา ส่งเสริมความรู้และการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ (Training Seminars)


ระยะที่ 3 การบ่มเพาะกลุ่มธุรกิจ Digital Startup (Incubation) ภาคการศึกษาจะให้การสนับสนุนด้านการปฏิบัติการเพื่อต่อยอดความคิด การส่งเสริมการปฏิบัติการด้วยห้องปฏิบัติการ (Lab Use) การส่งเสริมด้วยผู้ฝึกสอนที่มีความรู้ ภาคอุตสาหกรรมจะให้การสนับสนุนด้านเทคนิคและวิธีการ อุตสาหกรรมเชิงลึก การให้ทุนอุดหนุนเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง การให้สิทธิประโยชน์การลดหย่อนภาษี การสนับสนุนค่าใช้จ่ายด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D Expense)


ส่วนระยะที่ 4 คือ การเร่งรัดธุรกิจสู่ตลาดสากล ทั้งการเข้าถึงผู้รับบริการในตลาด โดยมีการจัดการแข่งขันเพื่อเพิ่มขีดความสามารถ


ระยะที่ 5 คือ มาตรการส่งเสริมการเพิ่มมูลค่าการลงทุน (Valuation) แนวทางการเพิ่มการไหลเวียนของการลงทุน ได้แก่ การเสนอขายหุ้นให้แก่นักลงทุนก่อนการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ (Initial Public Offering: IPO) การเปิดการลงทุนตามมูลค่าการลงทุนที่กำหนดไว้

 

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้

เว็บไซต์นี้ใช้คุกกี้ เพื่อสร้างประสบการณ์นำเสนอคอนเทนต์ที่ดีให้กับท่าน รวมถึงเพื่อจัดการข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อให้ท่านได้รับประสบการณ์ที่ดีบนบริการของเว็บไซต์เรา หากท่านใช้บริการเว็บไซต์นี้ต่อไปโดยไม่มีการปรับตั้งค่าใดๆ นั่นเป็นการแสดงว่าท่านอนุญาตยินยอมที่จะรับคุกกี้บนเว็บไซต์และนโยบายสิทธิส่วนบุคคลของเรา